วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคืออะไร

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคืออะไร

           ระบบภูมิคุ้มกัน คือ กลุ่มของเซลล์และสารที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าแอนติเจนทำอันตรายร่างกายได้ แอนติเจนเป็นสารหรือสิ่งแปลกปลอมประเภทหนึ่ง (เช่นเดียวกับไวรัสเอชไอวี) ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาในเลือด  (คำว่า แอนติเจนย่อมาจาก antibody generating แอนติบิอดีทำหน้าที่ต่อสู้กับแอนติเจน) โดยปกติแล้วแอนติบอดีจะทหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย แต่การที่เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายและเพิ่มปริมาณมากขึ้นโดยไม่ถูกยับยั้งด้วยยาจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อีกต่อไป เปรียบระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเหมือนกับกองทัพทหารที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอก ตราบใดที่กองทัพเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะปลอดภัย แต่หากกองทัพอ่อนแอหรือเผชิญหน้ากับศัตรูที่เข้มแข็งกว่าประเทศนั้นย่อมจะมีโอกาสพ่ายแพ้แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นประเทศที่เล็กกว่าก็ตาม

          ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายประกอบด้วยเซลล์ที่เรียกว่า เซลล์เม็ดเลือดขาว T-lymphocytes และเซลล์เม็ดเลือดขาวB-lymphocytes ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากอันตรายต่างๆ เหมือนกับกองทัพทหารที่ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ ภายในเซลล์เม็ดเลือดขาว T ประกอบด้วยตัวรับ CD4 ซึ่งเซลล์เหล่านี้เรียกว่าเซลล์เม็ดเลือดขาว T4 lymphocytes หรือ T-cells หรือเซลล์ CD4

         เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์ CD4 และ T-cells และอาศัยเซลล์เหล่านี้เพื่อขยายพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น เซลล์ CD4 ก็จะถูกทำลายลงเรื่อยๆ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงและผู้ติดเชื้อก็จะเริ่มป่วยเป็นโรคฉวยโอกาส (Opportunisticinfections: OIs) รวมทั้งเป็นโรคมะเร็งบางชนิด ในขณะเดียวกันหากร่างกายได้รับเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ด้วย ก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วและเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคต่างๆ มากขึ้น



เชื้อเอชไอวีติดต่อได้อย่างไร

เชื้อเอชไอวีติดต่อได้อย่างไร


เชื้อเอชไอวีมีอยู่ในเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด และน้ำนมแม่ ซึ่งสามารถติดต่อได้ 4 ทาง คือ
1.การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
2.การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ก่อนหรือระหว่างการคลอดหรือระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด
3.การแพร่เชื้อโดยการรับเลือดและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเลือด (การถ่ายเลือดและการปลูกถ่ายอวัยวะ)
4.การใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา และอุปกรณ์ฉีดยาอื่นๆ รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับสักผิวหนังร่วมกัน


            โอกาสที่จะติดเชื้อเอชไอวีขึ้นอยู่กับช่องทางที่ได้รับเชื้อเอชไอวี ตัวอย่างเช่น การได้รับการถ่ายเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าการถูกเข็มฉีดยาทิ่มนิ้วมือในขณะฉีดยาให้ผู้ป่วย การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปากโดยไม่มีการป้องกันมีความเสี่ยงน้อยกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือทางช่องคลอดโดยไม่สวมถุงยางอนามัย เป็นต้น ผู้รับการปรึกษาควรจะต้องรู้และเข้าใจว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีมีอยู่ในน้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด น้ำนมแม่ และเลือดและสามารถแพร่กระจายได้หากร่างกายได้รับหรือสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ การที่จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ผู้รับการปรึกษาควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ ที่จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย ดังนั้นผู้ให้การปรึกษาจะต้องประเมินว่าผู้รับการปรึกษามีความเข้าใจเพียงใดและควรให้ข้อมูลความรู้ที่จำเป็นและเหมาะกับระดับความรู้ของผู้รับการปรึกษาแต่ละคน ผู้รับการปรึกษาและผู้ป่วยควรได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจตรวจเอชไอวีและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจผู้รับการปรึกษาและผู้ป่วยจะต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับช่องทางการติดเชื้อ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความหมายและผลที่อาจเกิดตามมาหลังทราบผลการตรวจเอชไอวี รวมทั้งจะต้องมีการแก้ไขความเชื่อหรือความเข้าใจผิดต่างๆให้ถูกต้องก่อน จากการสำรวจพบว่าประมาณร้อยละ 70-80 ของการติดเชื้อทั่วโลก เป็นการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันระหว่างผู้ติดเชื้อกับคู่/คู่นอนของตน ซึ่งหมายรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงและการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดระหว่างชายกับหญิง แม้ว่าโอกาสที่จะติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวจะมีน้อยมาก บางครั้งพฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็อาจทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น ได้แก่ การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ก่อนแล้ว เช่น เป็นแผลหรือมีหนองไหลออกจากอวัยวะเพศและการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันกับคู่/คู่นอนหลายคน

การติดเชื้อเอชไอวีในสถานบริการสาธารณสุข การใช้สารเสพติดชนิดฉีดและการสักผิวหนัง

            การติดเชื้อเอชไอวีจากเลือดมีประมาณร้อยละ 5-10 ของการติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด ซึ่งการติดเชื้อทางเลือดอาจเกิดจากการได้รับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีโดยการถ่ายเลือดหรือได้รับผลิตภัณฑ์จากเลือด การใช้อุปกรณ์ฉีดยา เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาที่ปนเปื้อนเลือดร่วมกับผู้อื่น และการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาก่อนและไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ นอกจากนี้การปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับจากผู้บริจาคอวัยวะที่ติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเลือดที่ติดเชื้อและไม่ได้มีการฆ่าเชื้อก่อนการนำมาใช้อีก เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ขลิบอวัยวะเพศ สักผิวหนัง และสำหรับทำพิธีกรรมบางอย่างก็จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้

ความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ให้การปรึกษา

ความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ให้การปรึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชไอวีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และวัณโรค

            ผู้ให้การปรึกษาควรมีความเข้าใจและสามารถอธิบายให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจได้ว่าเชื้อเอชไอวีติดต่อได้อย่างไร มีวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างไรบ้าง หากติดเชื้อแล้วการดำเนินของโรคเป็นอย่างไร และการกินยาต้านไวรัสจะต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ผู้ให้การปรึกษาควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ว่าสามารถติดต่อได้อย่างไร มีวิธีการรักษาอย่างไรและมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร และเนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวีทำให้มีการแพร่ระบาดของวัณโรค ผู้ให้การปรึกษาจึงควรมีความรู้ว่าการติดเชื้อเอชไอวีมีความเกี่ยวข้องกับวัณโรคอย่างไร และควรจะสามารถให้การปรึกษาในกรณีที่ผู้รับการปรึกษาเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการของวัณโรคร่วมด้วยได้

โรคเอดส์คืออะไร แตกต่างจากเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างไร

          คำว่า AIDS ย่อมาจาก Acquired Immune Deficiency Syndrome

                  Acquired หมายถึง การแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง
                  Immune หมายถึง ระบบภูมิต้านทานหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
                  Deficiency หมายถึง ความบกพร่องหรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
                  Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการหรือโรคที่มีอาการหลายๆ อย่าง


               โรคเอดส์ หมายถึง อาการป่วยหรือโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้ม กันของร่างกายบกพร่องหลังจากติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสเอชไอวี (Human Immune Deficiency Virus: HIV) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ในคน ซึ่งนักวิจัยได้จำแนกไวรัสเอชไอวีเป็น 2 ชนิด คือ HIV-1 และ HIV-2 ซึ่งเอชไอวีทั้ง 2 ชนิดนี้ มีวิธีการแพร่เชื้อเหมือนกันและทำให้เกิดโรคฉวยโอกาสคล้ายๆ กัน แต่จะแตกต่างกันที่ความยากง่ายในการแพร่เชื้อและระยะเวลา ตั้งแต่ติดเชื้อครั้งแรกจนปรากฏอาการของโรค (การดำเนินโรค) ไวรัสเอชไอวีที่พบมากทั่วโลกคือ HIV-1 ซึ่งแบ่งย่อยได้มากกว่า 10 ชนิดย่อย (subtypes) ส่วน HIV-2 ซึ่งมักพบในทวีปแอฟริกาตะวันตก จะแพร่เชื้อได้ยากกว่าและมีการดำเนินโรคช้ากว่า HIV-1 คนๆหนึ่งสามารถติดเชื้อเอชไอวีทั้งสองชนิดพร้อมกันได้

ที่มา : คู่มืออ่านประกอบการให้การปรึกษาเพื่อการตรวจเอชไอวี สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก