การให้การปรึกษาก่อนการตรวจเอชไอวี
(Pretest counseling)
การให้การปรึกษาก่อนการตรวจเอชไอวีเป็นการให้การปรึกษาที่ต้องเก็บรักษาไว้เป็นความลับและจะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้รับข้อมูลและได้พิจารณาทางเลือกต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะตรวจเอชไอวีหรือไม่
ซึ่งตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก การตัดสินใจดังกล่าวเป็นสิทธิของบุคคลนั้นที่สามารถทำได้โดยต้องไม่มีการบังคับ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะตรวจเอชไอวีหรือไม่ บุคคลนั้นควรมีความรู้ความเข้าใจและพิจารณาถึงประโยชน์ ผลดีและผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมา
รวมทั้งควรคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีของตนด้วย ผู้ให้การปรึกษาจะเป็นผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมและช่วยเหลือให้ผู้รับการปรึกษาสามารถรับมือกับผลกระทบหรือปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาหลังการตรวจเอชไอวี
ทั้งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาสังคม ทางด้านกฎหมาย และทางด้านสุขภาพ นอกจากนี้ผู้ให้การปรึกษาจะต้องประเมินความพร้อมของผู้รับการปรึกษาในการเตรียมใจที่จะยอมรับหากผลเลือดเป็นบวก รวมทั้งควรอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีและการลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่นแม้ว่าการให้การปรึกษาแบบตัวต่อตัว
(Individual one-to-one counseling) จะเป็นวิธีการให้การปรึกษาที่มีคุณภาพและได้
ผลดีที่สุดก็ตาม แต่ก็ยังมีวิธีอื่นๆ อีก เช่น การให้การปรึกษาก่อนตรวจเอชไอวีแก่คู่สามีภรรยาพร้อมกัน
ซึ่งจะได้อธิบายโดยละเอียดในบทที่ 4 ต่อไป และในกรณีที่มีผู้รับการปรึกษาเป็นจำนวนมากหรือในกรณีที่ผู้ให้การปรึกษาแนะนำให้ผู้รับการปรึกษาตรวจเอชไอวีเนื่องจากประเมินแล้วพบว่าผู้นั้นมีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการแสดงที่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (Provider-Initiated
Testing and Counseling: PITC) หรือในกรณีที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาหรือบุคลากรทำให้ไม่สามารถให้การปรึกษาแบบตัวต่อตัวได้ ก็อาจจะให้ข้อมูลทั่วไปแก่ผู้รับการปรึกษาแบบเป็นกลุ่มก่อนการตรวจเอชไอวีได้
แต่ทั้งนี้ผู้รับการปรึกษาแต่ละคนจะต้องให้ความยินยอมเพื่อเข้ารับการตรวจเอชไอวีเป็นรายบุคคลเท่านั้นเพื่อเป็นการรับรองว่าผู้รับการปรึกษาให้ความยินยอมด้วยตัวเองและไม่ได้ถูกบังคับ
การให้การปรึกษาหลังการตรวจเอชไอวีหรือหลังทราบผล (Post-HIV test counseling)
การให้การปรึกษาหลังการตรวจเอชไอวีเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจความหมายและผลการตรวจ
ซึ่งหากผลเลือดเป็นบวก ผู้รับการปรึกษาควรได้รับการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถยอมรับและปรับเปลี่ยนชีวิตตนเองให้สามารถอยู่กับเชื้อเอชไอวีได้ การคิดอยากฆ่าตัวตายนับว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้ให้การปรึกษาต้องช่วยแก้ไข
ซึ่งผู้ติดเชื้อมักจะมีแนวโน้มคิดอยากฆ่าตัวตายในสองช่วงคือ เมื่อรู้ครั้งแรกว่าตนเองติดเชื้อและเมื่อตนเองเริ่มมีอาการป่วยเป็นโรคเอดส์และไม่สามารถทำงานเพื่อหารายได้และรู้สึกว่าเป็นภาระของครอบครัวและผู้ดูแล
ดังนั้นผู้ให้การปรึกษาจะต้องทำการประเมินความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่ผู้รับการปรึกษาอาจคิดอยากฆ่าตัวตายและป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นตลอดระยะการดำเนินโรคโดยปกติแล้วการให้การปรึกษาก่อนและหลังการตรวจเอชไอวีจะทำโดยผู้ให้การปรึกษาคนเดียวกัน แต่ในบางครั้งผู้ให้การปรึกษาบางคนอาจต้องให้บริการแก่ผู้รับการปรึกษาที่เข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยไม่รู้และไม่ได้ให้ความยินยอม
ซึ่งในกรณีนี้ผู้ให้การปรึกษาจะต้องมีวิธีแก้ไขปัญหาและมีวิธีพูดคุยกับผู้รับการปรึกษาที่อาจกำลังมีความโกรธ
การให้การปรึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง (Ongoing counseling)
ด้วยลักษณะตามธรรมชาติของการดำเนินของโรคนี้ที่มีระยะเวลายาวนาน ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับมือกับผลกระทบทางจิตวิทยาสังคมซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามการดำเนินของโรค นอกจากผลกระทบโดยตรงแล้ว ผู้ติดเชื้ออาจจะต้องเผชิญกับปัญหาทางจิตวิทยาสังคมที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือปัญหาที่เป็นผลกระทบทางอ้อมอีกด้วยเช่น
ผู้ติดเชื้อบางคนอาจจะต้องทุกข์ใจกับปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขก่อนที่ตนจะติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของตน (sexual orientation) หรือความสะเทือนใจจากเหตุการณ์ที่ฝังใจในอดีต เช่น อาจเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนหรือมีปัญหาชีวิตครอบครัว เป็นต้น ผู้ติดเชื้อและผู้เกี่ยวข้องอาจจะต้องการความช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น การส่งต่อเพื่อเข้ารับบริการด้านสวัสดิการ การประสานงานกับผู้ที่จะมาช่วยดูแล การทำพินัยกรรม และการจัดหาผู้ที่จะช่วยดูแลเด็ก เป็นต้น ผู้ให้การปรึกษาจึงควรมีความพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือผู้รับการปรึกษาในด้านต่างๆ
ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามระยะต่างๆ ของการดำเนินโรค
ที่มา : คู่มืออ่านประกอบการให้การปรึกษาเพื่อการตรวจเอชไอวี สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น